Cyanoacrylate … กาว

  กาวพลังช้างเป็นกาวที่เกิดการแข็งตัวได้เนื่องจากเกิดปฎิกิริยาเคมี มีชื่อเรียกทางเคมีว่ากาวไซยาโนอะคริเลต(Cyanoacrylate )และชื่อทางการค้าว่า ซูเปอร์กลู (Super glue) ในประเทศไทยรู้จักกันในชื่อ กาวตราช้าง หรือ กาวช้าง มีประวัติการค้นพบเริ่มต้นในห้องวิจัยของบริษัทโกดัก (Kodak) เมืองรอเชสเตอร์(Rochester)รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ.1942ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ ดร.คูเวอร์ (Dr.Harry Coover)นักวิจัยของบริษัทได้พยายามผลิตแผ่นพลาสติกใสสำหรับติดตั้งบนปืนเพื่อใช้ในการเล็งหาเป้าหมายในการยิง เขาได้ทดลองผลิตพลาสติกใสประเภทอะคริลิกขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยการเลือกใช้โมโนเมอร์ประเภทอะคริเลตหลายชนิด รวมถึงสารเอทิลไซยาโนอะคริเลต(Ethyl cyanoacrylate) ด้วย แต่ไม่นาน ดร.คูเวอร์ ก็ค้นพบว่าพลาสติกที่ผลิตจากไซยาโนอะคริเลตนี้เป็นพลาสติกที่ไม่มีประโยชน์ เนื่องจากมีความเหนียวติดแน่นบนพื้นผิวอุปกรณ์ต่างๆ จึงเป็นอุปสรรคต่อการใช้งานรวมทั้งยากต่อการทำความสะอาด จึงไม่ได้ให้ความสนใจในการนำมาวิจัยและพัฒนาต่อไป จนกระทั่งในอีก 9 ปีต่อมาจึงได้ค้นพบด้วยความบังเอิญในห้องทดลองร่วมกับทีมวิจัยของบริษัทอีสต์แมน โกดัก (Eastman Kodak) ในเมืองเทนเนสซี(Tennessee)ที่อยู่ระหว่างการวัดสมบัติหักเหแสง(refraction)ของสารเอทิลไซยาโนอะคริเลต จึงได้ทาสารนี้ลงระหว่างปริซึม2แท่ง ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องมือวัด แต่หลังจากนั้นก็ไม่สามารถหาวิธีการใดๆ ที่จะแยกปริซึมทั้ง2แท่งออกจากกันได้ จึงทำให้ดร.คูเวอร์สนใจและทำการทดลองต่อจนพบว่า เอทิลไซยาโนอะคริเลตมีสมบัติเป็นกาวที่มีการยึดติดที่แข็งแรงอย่างน่ามหัศจรรย์ มีความทนทานต่อแรงดึงสูง และสามารถยกวัตถุที่หนักถึง1ตันให้สูงขึ้นได้โดยการทากาวบนพื้นที่เพียง1ตารางนิ้วเท่านั้น   source: Mtec.or.th ประวัติการค้นพบกาวพลังช้าง (“Super glue กาวมหัศจรรย์”รหัสบทความ INFO-14580วารสารเทคโนโลยีวัสดุ ปี2547เล่มที่34)